เคลียร์ชัดเรื่อง consent ตาม PDPA

Share
ชื่อ-สกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ประวัติทางการเงิน ประวัติอาชญากรรม ลายนิ้วมือ ล้วนเป็นสิ่งที่ใช้บ่งบอกตัวบุคคลหรือตัวเจ้าของข้อมูลเหล่านี้ อาจจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก็มีสิทธิในข้อมูลของตนเอง โดยกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองสิทธินี้ไว้ด้วย

ประเภทของข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลส่วนบุคคล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป (Personal Data) คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งข้อมูลในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เลขบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร
  • ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (Sensitive Personal Data) เป็นข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงของตัวบุคคล มีความละเอียดอ่อนสูง เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ศาสนา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นในทำนองเดียวกัน
  • การขอ Consent ตามฐานกฎหมาย (Lawful basis)

    1. การใช้ฐานการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป

    พิจารณาได้จากรูปแบบการดำเนินการ และวัตถุประสงค์การใช้ เก็บรวบรวมหรือเปิดเผยข้อมูลนั้น ซึ่งในแต่ละชุดข้อมูลก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ โดยหลักการตามกฎหมาย PDPA ระบุว่าให้ใช้ฐานความยินยอม (Consent) เป็นฐานหลักในการประมวลผลข้อมูล เนื่องจากเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเลือกจัดการข้อมูลของตนเองได้เต็มที่

    ในทางปฏิบัติแล้วผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอาจไม่สามารถใช้ฐานความยินยอม (Consent) กับการขอใช้หรือเก็บรวบรวมกับข้อมูลทุกประเภทได้ ซึ่งองค์กรแต่ละประเภทย่อมมีความจำเป็นในการอ้างอิงฐานตามกฎหมายแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล โดยกฎหมาย PDPA ยังมีวิธีการประมวลผลตามฐานกฎหมายอื่นที่สามารถปรับใช้ตามบริบทและวัตถุประสงค์ ได้แก่ ฐานสัญญา (Contract), ฐานหน้าที่ตามกฎหมาย (Legal Obligation), ฐานประโยชน์สำคัญต่อชีวิต (Vital Intertest), ฐานภารกิจของรัฐ (Public Task), ฐานประโยชน์อันชอบธรรม (Legitimate Interest), ฐานจดหมายเหตุ วิจัย สถิติ (Scientific or Research) หากวัตถุประสงค์การใช้ เก็บรวบรวมหรือเปิดเผยข้อมูลเข้าตามฐานการประมวลผล 5 ฐานนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลก็ไม่ต้องขอความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลอีก

    ฐานการประมวลผลข้อมูลตามกฎหมาย (Lawful Basis) ของข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปที่ไม่ต้องขอความยินยอม (consent) มีดังนี้

  • ฐานสัญญา (Contract) จะใช้ได้กับข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปเท่านั้น ฐานนี้เป็นการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สัญญาตามฐานนี้จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ตัวอย่างเช่น สัญญาเปิดบัญชีธนาคารและการให้บริการกับลูกค้าของธนาคาร การสมัครสมาชิกฟิตเนสและการให้บริการด้านการออกกำลังกายกับสมาชิกฟิตเนส การปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายโดยเว็บไซต์ E-commerce เก็บรวบรวมที่อยู่จัดส่งของผู้ซื้อให้กับร้านค้าเพื่อส่งสินค้า
  • ฐานหน้าที่ตามกฎหมาย (Legal Obligation) เป็นสิ่งที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติตาม เช่น การให้สิทธิลูกจ้างลาป่วยหรือลาพักผ่อนตามกฎหมายแรงงาน การให้ข้อมูลกับหน่วยงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย การการที่ธนาคารขอสำเนาบัตรประชาชนเพื่อพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
  • ฐานประโยชน์สำคัญต่อชีวิต (Vital Interest) โดยจะสามารถใช้ฐานนี้ในการประมวลผลข้อมูลสุขภาพที่เป็นข้อมูลอ่อนไหว (Censitive data) เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ซึ่งจะใช้ฐานนี้ได้เฉพาะในกรณีที่เจ้าของข้อมูลอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ตัวอย่างเช่น แพทย์ขอใช้ประวัติการรักษาของเจ้าของข้อมูลจากโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาเจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นผู้ป่วย สาธารณสุขจังหวัดขอเก็บข้อมูลการติดเชื้อของประชาชนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด
  • ฐานภารกิจของรัฐ (Public Task) เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในฐานนี้มักเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น ตำรวจมีอำนาจในการปรับ จับกุมหรือขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีตามกฎหมายอาญา โรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกได้ให้อำนาจให้บริการสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
  • ฐานประโยชน์อันชอบธรรม (Legitimate Interest) เป็นการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือบุคคลภายนอก แต่การดำเนินการนั้นจะต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และเจ้าของข้อมูลก็คาดหมายได้ว่าจะมีการดำเนินการนี้ ตัวอย่างเช่น การประเมินการขึ้นเงินเดือนพนักงาน การรวบรวมสถิติโดยไม่ใช้ข้อมูลที่บ่งชี้ตัวตนของเจ้าของข้อมูล การบันทึกภาพกล้องวงจรปิดในสถานที่สาธารณะ
  • ฐานจดหมายเหตุ วิจัย สถิติ (Scientific or Research) การปฏิบัติตามฐานนี้อาจต้องอ้างอิงฐานตามกฎหมายอื่นประกอบด้วยว่าจะขอจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ วิจัย สถิติ ตามวัตถุประสงค์หลักใด เช่น ขอเก็บตามฐานภารกิจของรัฐ (Public Task) ฐานการปฏิบัติตามกฎหมาย (Legal Obligation) หรืออาจต้องอาศัยการตัดสินใจตามฐานความยินยอม (Consent) กับเจ้าของข้อมูล
  • เมื่อพิจารณาตามฐานการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของข้อมูลทั่วไปแล้ว หากวัตถุประสงค์การใช้ เก็บรวบรวมหรือเปิดเผยข้อมูลไม่เข้าฐานใดตามที่กล่าวไว้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องใช้ฐานความยินยอม (Consent) โดยต้องขอให้ชัดเจนว่าขอข้อมูลไปเพื่ออะไร ให้อิสระกับเจ้าของข้อมูลว่าจะให้หรือไม่ให้ความยินยอม การจัดทำ Consent ให้แยกส่วนการขอความยินยอมออกจากส่วนอื่นให้ชัดเจน และให้แจ้งผลกระทบกับเจ้าของข้อมูลด้วย ถ้าการถอนความยินยอมจะกระทบกับการใช้งานในเรื่องนั้นๆ การขอ Consent มักเป็นการขอความยินยอมเพิ่มเติมจากการใช้ข้อมูลตามฐานการประมวลผลหลัก ตัวอย่างเช่น ขอ Consent ให้ลูกค้ารับข่าวสารหรือโปรโมชั่นของผู้ขายทางอีเมล หรือให้ส่ง Direct Marketing ซึ่งเป็นการขอแยกกับข้อมูลตามฐานสัญญาซึ่งลูกค้าได้ทำสัญญาซื้อขายกับเว็บไซต์ไว้

    เนื่องจากการขอ Consent เป็นวิธีการที่ให้ความสมัครใจกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่เจ้าของข้อมูลให้ความยินยอมไว้ นอกจากนี้ หากเจ้าของข้อมูลถอนความยินยอมตามฐาน Consent อาจทำให้ต้องหยุดประมวลผลการใช้ข้อมูลนั้นไป จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงและเป็นภาระต่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในทางปฏิบัติ การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป จึงมักใช้ฐานการประมวลผลอื่นเป็นหลัก และใช้ฐานความยินยอม (Consent) เพิ่มเติม ในกรณีที่องค์กรต้องการใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน แต่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น และการขอ Consent ก็จะต้องขอแยกกับการขอใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์หลักให้ชัดเจน

    2. การใช้ฐานการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (Sensitive Personal Data)

    สำหรับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว เช่น ลายนิ้วมือ ประวัติการรักษา เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) จะต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้แต่แรกและต้องขอ consent ทุกครั้ง โดยการขอใช้หรือเก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องมีความได้สัดส่วนและจำเป็น กล่าวคือ การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว จะใช้ได้ต่อเมื่อไม่สามารถใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปทดแทนได้ ตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลลายนิ้วมือของสมาชิกฟิตเนสเพื่อใช้ยืนยันตัวตนสมาชิก อาจเกินความจำเป็นเนื่องจาก ทางฟิตเนสสามารถใช้บัตรสมาชิกในการสแกนเข้าออกฟิตเนสแทนได้

    กฎหมาย PDPA ได้ให้ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องขอความยินยอม (Consent) ในบางกรณีได้ ตัวอย่างเช่น

  • เมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต (Vital interest) ตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้าของข้อมูลเกิดเหตุฉุกเฉินไม่รู้สึกตัว เจ้าหน้าที่กู้ชีพสามารถขอข้อมูลสุขภาพกับบุคคลใกล้ชิดได้ หรือโรงพยาบาลสามารถให้ประวัติการรักษากับอีกโรงพยาบาลหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่หมดสติได้
  • การดำเนินกิจกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีการคุ้มครองที่เหมาะสมของมูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา ปรัชญา หรือสหภาพแรงงาน
  • ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะด้วยความยินยอมโดยชัดแจ้งของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
  • การก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การปฏิบัติตามหรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือการยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
  • เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การขอข้อมูลสุขภาพและ timeline จากกลุ่มบุคคลเสี่ยงต่อโรคติดต่อหรือโรคระบาด เพื่อป้องกันการติดต่อหรือแพร่เข้ามาในราชอาณาจักร
  • การคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิตามกฎหมาย การคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เช่น ฝ่าย HR ใช้ใบรับรองแพทย์ของเจ้าของข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับประกันสังคม
  • สำหรับการประมวลผลข้อมูลทางออนไลน์ก็เช่นกัน ปัจจุบันก็จะต้องมีการขอ Consent เพื่อขอใช้งานตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การยืนยันตัวบุคคลเมื่อเข้าใช้บริการเว็บไซต์ การขอให้ระบบตรวจสอบ location ของผู้ใช้งาน เพื่อจะได้รับบริการขนส่งที่ใกล้เคียงได้สะดวกขึ้น ซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถขอ PDPA consent ได้ผ่านแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ การขอใช้ Cookie เพื่อเก็บข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ต โดยแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลไปด้วยและต้องแยกส่วนออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน เข้าถึงได้และเข้าใจได้ ใช้ภาษาที่อ่านง่าย

    หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ในการขอความยินยอม (Consent) หลักการขอความยินยอมการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล จะต้องแจ้งรายละเอียดและวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูล การใช้ หรือเผยแพร่ให้เจ้าของข้อมูลทราบก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูล เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะทราบว่าจะจัดเก็บข้อมูลอะไรบ้าง รวมถึงระยะเวลาการจัดเก็บ สถานที่ และวิธีการติดต่อกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเรามักจะเห็นการแจ้งข้อมูลเหล่านี้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขก่อนที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์จะสมัครสมาชิก หรือตามแบบฟอร์มก่อนเปิดบัญชีธนาคาร ทำแบบฟอร์มในรูปแบบเอกสารให้กรอกและเซ็นรับทราบยินยอม หรือทำ Consent form ขอใช้ข้อมูลโดยให้กรอกข้อมูลและลงนามผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ แจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนผ่านทางนโยบายความเป็นส่วนตัว Privacy Policy คลิก PDPA Pro เพื่อสร้าง Privacy Policy ที่ได้มาตรฐาน ควรสร้าง Consent form ให้เจ้าของข้อมูลแสดงเจตนายินยอมอย่างชัดเจน เช่น การติ๊กเลือกช่องที่เขียนว่า “ฉันได้อ่านและยอมรับ” ซึ่งเจ้าของข้อมูลก็ได้ยินยอมให้ใช้ข้อมูลและยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวตามวัตถุประสงค์การใช้ที่แจ้งไว้ แจ้งการขอใช้ Cookie ผ่านทาง Cookie consent ที่แสดงในรูปแบบ pop up ตามหน้าเว็บไซต์ เพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

    ใช้ภาษาอ่านเข้าใจง่าย ข้อความไม่กำกวม แยกส่วน Privacy Policy และ Consent Form ออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย อาจแจ้งมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้รับความยินยอม เพื่อให้เจ้าของข้อมูลเกิดความไว้วางใจ ให้ความยินยอมได้ง่ายมากขึ้น